วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

5 วิธี ห่างไกลมะเร็ง


วันนี้ทางบล็อกมีบทความสำหรับคนรักสุขภาพมาฝากกันค่ะ หลายๆ คนคงไม่อยากจะเจ็บป่วย เรามีวิธีใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งมาฝาก เพราะมะเร็งเป็นแล้วต้องตาย ในความคิดของใครหลายๆ คน แต่ถ้าเรามาดูแลรักษาสุขภาพของเราตั้งแต่วันนี้ เราก็จะห่างไกลจากโรคมะเร็งแล้วค่ะ มาดูกันเลยค่ะ

1.ออกกำลังกายเป็นนิจ
โรคมะเร็งมีความสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย  มีรายงานการวิจัยพบว่า  การออกกำลังกาย ช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็ง  และโรคหัวใจได้  ความอ้วน ความเครียด เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง  การออกกำลังกายที่เหมาะสมเพียงพอช่วยคลายเครียด  และลดการสะสมแคลอรี่ (ไขมัน)  ในร่างกายได้
ข้อแนะนำ  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ๆ ละ 30 นาที  และต่อเนื่อง
ควบคุมน้ำหนัก  ให้เหมาะสมตามดัชนีมวลกาย  Body Mass Index (BMI) 
สูตรการหาค่า BMI  =          น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)^2      
น้ำหนักตัวพอดี                     BMI  18.5 - 25
น้ำหนักมากเกินไป               BMI  25 - 30
โรคอ้วน                               BMI  มากกว่า 30

2.ทำจิตแจ่มใส
ความเครียดเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำ  และส่งเสริมการเกิดโรคมะเร็งได้  การทำจิตใจให้แจ่มใส ช่วยคลายเครียดและส่งเสริมภูมิต้านทาน  ทั้งทางร่างกายและจิตใจทำให้มีภูมิต้านทานโรคมะเร็งได้ด้วย  ร่างกายที่แข็งแรงต้องมาจากจิตใจที่เข้มแข็ง
ข้อแนะนำ  จิตแจ่มใส  ทำได้หลายวิธีด้วยกิจกรรมสันทนาการทุกรูปแบบ  การทำบุญตามวีถีแห่งศาสนา  ทัศนศึกษา  รวมถึงการออกกำลังกาย
เดินทางสายกลาง  และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

3.กินผักผลไม้
ในผัก ผลไม้ นอกจากจะมีสารต้านมะเร็งได้แก่ แอนตี้ออกซิแดนซ์  เช่น วิตามินเอ  ซี  อี  สารเบต้าแคโรทีน  สารไลโคปีน  สารไอโซฟลาโวนอยด์  หรีอเรียกรวมๆ กันว่า Dietary  Cancer Chemopreventive Agents และยังมีเส้นใยอาหาร (Fiber) ที่ทำหน้าที่คล้ายแปรงไปกระตุ้นผนังลำใส้ใหญ่ให้สร้างเมือก (Mucous) มากขึ้น  ทำให้เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่และ ลดการเกิดโรคมะเร็งได้  การวิจัยผัก  ผลไม้  พบสารต้านมะเร็งและกระบวนการต้านมะเร็งและกระบวนการต้านมะเร็งได้ถึงระดับโมเลกุลหลายชนิด ได้แก่ ขิง ชาเขียว องุ่นแดง น้ำผึ้ง กระเทียม มะเขือเทศ แครอท กะหล่ำปลี และบรอคโคลี เป็นต้น 
ข้อแนะนำ  กินผัก ผลไม้ ให้ได้ครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ หรือ ประมาณ 500 กรัม/วัน หรือที่เค้าพูดกันว่า ผักครึ่งหนึ่งอย่างอื่นครึ่งหนึ่ง

4.อาหารหลากหลาย
ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง  มากกว่า 1 ใน 3 มีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงทางด้านอาหารโดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูงและไขมันสูง  อาหารหมักดองเค็มและเนื้อสัตว์เค็มตากแห้ง ที่ใส่ดินประสิว โปแตสเซียมไนเตรท และสารไนไตรท์ ที่สามารถเปลี่ยนเป็นสารไนโตรซามีน  ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง  อัฟลาทอกซิน จากอาหารที่มีเชื้อรา เช่น ถั่วลิสงคั่ว พริกแห้ง ทำให้เกิดมะเร็งตับได้  เนื้อสัตว์ปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน ก็มีสารก่อมะเร็งเช่นกัน
ข้อแนะนำ  กินอาหารให้ครบ 5  หมู่ ไม่ซ้ำซากจำเจ  และใหม่สด สะอดา ปราศจากเชื้อรา  ลดอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้ง ย่าง ทอดที่ไหม้เกรียม เนื้อสัตว์สีแดง และอาหารหมักดอง   หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารดินประสิว และไนโตรซามีน

5.ตรวจร่างกายเป็นประจำ 
การตรวจร่างกาย ทำให้รู้ได้ว่าท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดใด  เพื่อเฝ้าระวังได้อย่างถูกต้อง  หากพบว่าเป็นมะเร็ง จะสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถรักษาได้ เพราะมะเร็งยังไม่ลุกลาม  แต่ถ้าหลายๆ ปีตรวจครั้งหนึ่ง  อาจพบมะเร็งในระยะลุกลามซึ่งรักษายาก  หรือรักษาไม่ได้  การป้องกันโรคมะเร็งไม่สามารถได้ผล 100 % ดังนั้นการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก จึงมีความสำคัญ
ข้อแนะนำ  หมั่นตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย ตามสัญญาณอันตราย 7 ประการ ของโรคมะเร็ง  อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจร่างกายประจำปีเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง

อย่าลืมนำไปปฏิบัติตามกันนะค่ะ เพื่อสุขภาพร่างกายของเราค่ะ 

ที่มา http://www.ruampol.com